.





ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา

 
(Definition of Educational Innovation Instruction)


ความหมาย "นวัตกรรม"
นวัตกรรมทางการศึกษา
หลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาว่าสิ่งใดคือ นวัตกรรม
ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรม
แง่คิดเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษา






นวัตกรรม (Innovation) 

เป็นคำที่คณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ บัญญัติขึ้น
เดิมใช้ นวกรรม มาจากคำกริยาว่า Innovate มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า 
Inovare (in(=in)+novare= to renew, to modify) และ novare มาจากคำว่า
novus (=new)

Innvate  แปลตามรูปศัพท์ได้ว่า "ทำใหม่,เปลี่ยนแปลงโดยนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามา
Innovation = การทำสิ่งใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ ที่ทำขึ้นมา (International Dictionary)

นวัตกรรม (Innovation)

หมายถึง การนำสิ่งใหม่ ๆ อาจเป็นแนวความคิด หรือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน
หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและได้ผลดีมีประสิทธิภาพและ
ประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย






นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation)

หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ
 รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่
มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้
ได้อย่างรวดเร็ว เกิดแรงจูงใจในการเรียนและช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอน
ใช้คองพิวเตอร์ช่วย การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ(Interactive Video)  สื่อหลายมิติ (Hypermedia)
และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น


นวัตกรรม
แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับ
            กาลสมัย         
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของ
         โครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์


 

 

หลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาว่าสิ่งใดคือ นวัตกรรม 

1. เป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน 
2. มีการนำวิธีการจัดระบบ (System Approach) มาใช้พิจารณาองค์ประกอบทั้งส่วน  
   ข้อมูลที่ใช้เข้าไปในกระบวนการและผลลัพธ์ให้เหมาะสมก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลง 
3. มีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยหรืออยู่ระหว่างการวิจัยว่าจะช่วยให้ดำเนินงานบางอย่างมีประสิทธิภาพ
    สูงขึ้น
4. ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งในระบบงานปัจจุบัน 


 


ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรม

1. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) 
   นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น
   - การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School)
   - แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book) 
   - เครื่องสอน (Teaching Machine)
   - การสอนเป็นคณะ (TeamTeaching)
   - การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
   - เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)

2. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความพร้อม (Readiness) 
     นวัตกรรมที่สนองแนว ความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
   - ศูนย์การเรียน (Learning Center) 
   - การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School) การปรับปรุงการสอนสามชั้น
    (Instructional Development in 3 Phases)

3. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการใช้เวลาเพื่อการศึกษา นวัตกรรมที่สนองแนวความคิด เช่น
    - การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling) มหาวิทยาลัยเปิด
      (Open University)
    - แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
    - การเรียนทางไปรษณีย์ 

4. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการขยายตัวทางวิชาการและอัตราการเพิ่มประชากร
     นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น
   - มหาวิทยาลัยเปิด
   - การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์ 
   - การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป 
   - ชุดการเรียน

 



แง่คิดเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษา

รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท

ความนำ

        ในระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ วางการศึกษาของไทยได้เคลื่อนไหวและพยายาม
นำความคิดและวิธีการใหม่ ๆหรือนวกรรมการศึกษามาใช้ เพื่อพัฒนาไปสู่ผลทางการศึกษา
ที่ดีขึ้น ในบรรดาหลายความคิดและหลายวิธีการเหล่านั้นในเชิงปฏิบัติอาจยังเป็นที่สับสน และ
เป็นที่น่าสงสัยในแง่ต่าง ๆ อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าในขณะนี้มีนวกรรมการศึกษาใดบ้าง
ที่เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องส่วนมากระดับการยอมรับ
นวกรรมยังอยู่ในระดับใด เพราะเหตุใดนวกรรมการศึกษาบางประเภทจึงเป็นที่ยอมรับกัน
อย่างมั่นคง บางประเภทล้มลุกคลุกคลาน บางประเภทปรากฏเป็นที่ยอมรับกันพักเดียวก็เลิกไป
ตลอดจนนวกรรมการศึกษาเหล่านั้นมาจากไหนหรือเกิดขึ้นได้อย่างไร
ดังนั้นจึงขอถือโอกาสนี้อภิปรายแง่คิดเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาเป็นด้าน ๆ ไป
ดังต่อไปนี้

1. การยอมนับและระดับการยอมรับนวกรรมการศึกษา
   นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ได้มีการสำรวจวิจัยประเภทของนวกรรมการ
ศึกษาในประเทศไทยหลายครั้งและหลายระดับการศึกษา รวมทั้งที่ปรากฏเป็นรายงานของ
สถาบันการศึกษาบางแห่งในการนำนวกรรมการศึกษามาทดลองใช้ในสถาบันของตน 
ปรากฏว่ามีการใช้นวกรรมการศึกษากันอยู่หลายประเภทตั้งแต่การจัดหลักสูตรแบบบูรณาการ
การสอนเป็นคณะ การใช้ศูนย์การเรียน การสอนแบบสืบสวนสอบสวน การสอนแบบจุลภาค 
บทเรียนโปรแกรม ชุดการเรียนไปจนถึงการสอนระบบทางไกล ในบรรดานวกรรมการศึกษา
เหล่านั้น บางประเภทบางแห่งก็นำมาใช้จนเป็นธรรมดาไปแล้วบางแห่งก็เลิกใช้ หรือไม่ก็ยังอยู่
ในขั้นทดลองและตัดสินใจ บางแห่งก็ต้องการนำมาใช้จริงและแน่นอนส่วนจะทำได้เพียงใดนั้น
เป็นอีกเรื่องหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจพิจารณาก็คือ การยอมรับนวกรรมการศึกษานี้ มีอันดับของการ
ยอมรับด้วย

นวกรรมบางประเภทในสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาบางแห่งหรือบุคคล หรือกลุ่ม
บุคคลบางส่วน อาจเพียงยอมรับในระดับตื่นตัว สนใจหรือรู้เรื่อง ในบางแห่งบางส่วนของบุคคล
หรือกลุ่มบุคคลอาจยอมรับในระดับการเรียนรู้ ศึกษา แล้วทดลองปฏิบัติ บางแห่งบางส่วนอาจ
ไปถึงขั้นของการนำมาปฏิบัติและขยายขอบข่ายของการใช้นวกรรมนั้นให้กว้างขวางออกไป
มากขึ้นทุกที ดังนั้นในการศึกษาเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาที่มีอยู่ในประเทศไทยในโอกาส
ต่อไปน่าจะได้พิจารณาไม่เพียงแต่ประเภทของนวกรรม และระดับของการศึกษาเท่านั้น
น่าจะได้พิจารณาตัวแปรทางด้านระดับของการยอมรับนวกรรมการศึกษานั้น ๆ ด้วย

2. องค์ประกอบในการยอมรับนวกรรมการศึกษา
       
ตามที่กล่าวมาแล้วในความนำว่า นวกรรมการศึกษาบางประเภทในสถาบันและ
หน่วยงานการศึกษาบางแห่ง และโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางส่วน มีการยอมรับในระดับของ
การนำไปใช้อย่างมั่นคงแต่ในบางแห่งและโดยบุคคลและกลุ่มบุคคล บางส่วนนวกรรมการศึกษา
นั้นกลับได้รับการปฏิเสธหรือไม่ก็มีอุปสรรค ไม่อาจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นบางประเภทบางแห่ง
และโดยบุคคลบางส่วนยอมรับกันเพียงระยะสั้น ๆแล้วก็ล้มเลิกไปจึงน่าจะได้ศึกษากันให้เห็น
ประจักษ์ว่าการยอมรับหรือปฏิเสธนวกรรมการศึกษาเกิดจากองค์ประกอบอะไร ตามความ
เป็นจริงการศึกษาทำนองนี้ จำเป็นที่จะต้องเอาหลักวิชาเข้ามาจับก่อนโดยศึกษา
ตัวแปรที่จะมีผลต่อการยอมรับหรือไม่ยอมรับนวกรรมการศึกษาโดยทั่วไปก่อน เป็นต้นว่า

- การสนองต่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาและการแก้ปัญหาการศึกษาและการเรียนการสอน
- ตัวแปรเกี่ยวกับ 4-M
- ความก้าวหน้าและพัฒนาการทางวิชาการและเทคโนโลยี
- สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
- ความยุ่งยากของนวกรรมการศึกษานั้นเอง
- การสนับสนุนของฝ่ายบริหาร
- เจตคติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
- ความสามารถและความตั้งใจของผู้เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้และอื่น ๆ

เมื่อตั้งตัวแปรอะไรก็สุดแล้วแต่จะเห็นเหมาะสมแล้วก็สามารถที่จะนำไปศึกษาในเชิงของ
กรณีศึกษา หรือการสำรวจในระดับกว้างเพื่อให้ได้ภาพในเรื่องนี้โดยรวมชัดขึ้นผลของการ
ทำเช่นนี้จะทำให้ไม่เพียงพอแต่เราจะเห็นภาพของตัวแปรที่ส่งผลต่อการยอมรับนวกรรม
การศึกษาได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการยอมรับ
ในระดับสูง และทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ในอนาคต


3. การเกิด การเผยแพร่ และการยอมรับนวกรรมการศึกษา

   ในบางเวลา เราเคยหยุดและคิดกันบ้างหรือไม่ว่า ความคิด และการกระทำใหม่ ๆ
ทางการศึกษาบางอย่างนั้น หรือที่ใช้ หรือทดลองใช้อยู่นั้นมาจากไหน มาได้อย่างไร
และทำไมจึงนำเอามาใช้ หรือนำมาทดลองใช้กันขึ้นแน่นอนนวกรรมการศึกษาแต่ละอย่าง
จะต้องมีที่มารวมทั้งมีขั้นตอนของการเผยแพร่ออกไป และได้รับการยอมรับขึ้นในที่สุดสิ่งที่
น่าจับตาดูหรือให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มบุคคล 3 ฝ่าย อันได้แก่ นวกร ผู้บริหาร
และผู้ปฏิบัตินวกร อาจหมายรวมถึงบุคคลที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือและวิธีการใหม่ ๆ
ทางการศึกษาขึ้นเอง ซึ่งมักเป็นเทคโนโลยีการศึกษาเมื่อคิดขึ้นได้แล้วก็ทดลอง และพัฒนา
ให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพดีขึ้น หรือได้มาตรฐานแล้วก็เผยแพร่ออกไป เช่น
คิดวิธีจัดห้องเรียนแบบศูนย์การเรียน คิดวิธีสอนจริยธรรมแบบเบญจขันธ์ เป็นต้น หรือ
หมายถึง หน่วยงาน เช่น โครงการส่งเสริมสมรรถภาพการสอน (RIT) และสถาบันส่งเสริม
การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ส.ส.ว.ท.)ได้คิดวิธีใหม่ๆ ทางการเรียนด้วยตนเอง
หลายรูปแบบ และวิธีการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ขึ้น ทดลองและพัฒนาจนได้
มาตรฐานแล้วเผยแพร่ออกไป นวกรการศึกษาบางท่านหรือบางกลุ่ม อาจได้แก่ ผู้ที่ศึกษา
วิธีการใหม่ ๆ มาจากการศึกษาเล่าเรียนหรือจากการอบรมแล้วนำมาเผยแพร่หรือนำมา
ดัดแปลง ทดลองแล้วเผยแพร่ต่อไป 

บางท่านอาจเป็นครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ มีหน้าที่ต้องสอน อบรมเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษา
แก่นิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว ก็สอนและอบรม และสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมหรือไม่
ก็เป็นวิทยากรในเรื่องเหล่านี้ให้แก่ผู้อื่นที่ต้องการนำไปใช้ นวกรการศึกษาบางกลุ่มอาจได้แก่
ผู้ที่ทำงานอยู่และได้คิดค้นวิธีการใหม่ ๆ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ และพยายาม
เผยแพร่วิธีการใหม่ ๆ เหล่านั้น จากประสบการณ์ของตนต่อไป        

   ถ้าหากจะกล่าวรวม ๆ แล้วนวกรการศึกษามักจะเป็นผู้ที่ คิด-รู้-เล่น เกี่ยวกับเครื่องมือและ
วิธีการใหม่ๆ ทางการศึกษา และพยายามเผยแพร่สิ่งใหม่ ๆ นั้นต่อไป แต่สิ่งที่น่าจะได้ศึกษา
ให้ละเอียดในเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มไหนหรือนวกรรมประเภทใดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นกลุ่มที่มี
อิทธิพลต่อการนำนวกรรมไปใช้มากที่สุดเพราะในการวางแผนเพื่อพัฒนาอิทธิพลทางด้านนี้
จะสามารถทำได้ถูกจุดที่สุดผู้บริหาร การนำนวกรรมการศึกษาไปใช้จะต่อเนื่อง มั่นคง 
หรือไม่เพียงใด เรามักจะพบว่าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ บารมี ที่ได้รับจากผู้บริหาร หน่วยงาน
การศึกษา เริ่มตั้งแต่ความที่ท่านเหล่านั้นมีเจตคติที่ดีต่อนวกรรมการศึกษาความเป็นผู้นำ
หรือผู้บุกเบิกวางแผนการใช้ไปจนถึงการให้สนับสนุนและอิสระแก่ผู้ปฏิบัติหรือแก่การทดลอง
อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะทำให้การปฏิบัติการใหม่ ๆ ต้องล้มลุก
คลุกคลานหรือล้มเหลวเสียกลางคันเมื่อเป็นเช่นนี้

เราจึงน่าจะให้ความสำคัญต่อคุณลักษณะทางผู้บริหารในฐานะตัวแปรเกี่ยวกับการยอมรับ
นวกรรมการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง และในบรรดาตัวแปรเหล่านั้น ตัวแปรใดมีผลต่อการงอกงาม
ในการนำนวกรรมการศึกษาไปใช้มากน้อยอย่างไรผู้ปฏิบัติ นวกรรมการศึกษาจะมีผลต่อ
การศึกษาในด้านคุณภาพและการแก้ปัญหาเพียงใดหรือไม่นั้น ต้องอาศัยว่ามีผู้ยอมรับและ
นำเครื่องมือและวิธีการใหม่ ๆ ทางการศึกษาเหล่านั้นไปใช้ ผู้ปฏิบัติในที่นี้ก็คือบุคคลที่เป็น
ผู้รับ ผู้ใช้ และผู้สืบทอดความคิดและวิธีการใหม่ ๆ ที่นวกรรมและผู้บริการเผยแพร่ และ
สนับสนุนให้กระทำทว่า มีสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ความคิด และวิธีปฏิบัติใหม่ ๆ ซึ่งถูกถ่ายทอด
มาจากฝ่ายนวกรและผู้บริหารอย่างดีแล้ว กลับมาล้มเหลวตรงที่ผู้นำมาปฏิบัติ หรือตรงผู้ใช้
นี่เอง เพราะเหตุใดเพราะอาจมีตัวแปรเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติหลายประการ ซึ่งเรายังไม่ได้ศึกษากัน
อย่างแท้จริงโดยรวมหรือเป็นกรณี ๆ ไปที่ส่งผลเป็นเช่นนั้น เป็นต้นว่า เจตคติที่เขามีต่อการ
ปฏิบัติหรือวิธีการใหม่ ๆ นั้น ความตั้งใจและความสามารถที่เขามีตลอดจนความเข้าใจ
ในนวกรรมการศึกษาอย่างแจ่มแจ้งของเขาด้วยความเป็นไปได้ ความมั่นคง
และความต่อเนื่องของการยอมรับและนำนวัตกรรมการศึกษาใด ๆ ไปใช้น่าจะขึ้นอยู่กับ
วัฏจักรหรือปฏิสัมพันธ์ของทีมกระบวนการนวกรรม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลสามฝ่ายที่ได้
กล่าวมาแล้ว และตัวแปรของแต่ละฝ่ายเหล่านั้น การเกิดขึ้น การเผยแพร่ และการยอมรับ
อาจเริ่มจากนวกรการศึกษาไปยังผู้ปฏิบัติโดยตรงหรือผ่านไปทางผู้บริหารจึงไปถึงผู้ปฏิบัติก็ได้
หรือผู้บริหารเป็นผู้ริเริ่ม และเป็นตัวกลางให้ผู้ปฏิบัติพบกับนวกรการศึกษา 
เพื่อก่อให้เกิดการนำเอาความคิดและวิธีการใหม่ ๆที่ต้องการมาใช้ก็ได้ในเรื่องนี้น่าจะเป็น
สิ่งที่ควรจะค้นหาให้พบจากกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหลายทางนวกรรมการศึกษาว่าวงจรใดที่มีผล
ทางบวกต่อการยอมรับนวกรรมการศึกษาที่ได้ผลและการค้นพบในเรื่องนี้จะนำไปสู่การ
วางแผนที่เหมาะสมของการเผยแพร่นวกรรมการศึกษาต่อไป

มีแง่คิดที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการขยายผลของการนำนวกรรมการศึกษาไปใช้
ให้กว้างขวางและต่อเนื่อง ซึ่งส่วนมากดูเหมือนว่าไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น 
การอบรมวิธีการเขียนบทเรียนโปรแกรมให้แก่ครูของเขตการศึกษา บางวิชา บางระดับ
โดยหวังว่าเมื่อเขียนบทเรียนแล้วครูเหล่านั้นคงจะผลิตบทเรียนโปรแกรมขึ้นใช้กันต่อไป
หรือวิทยาลัยครูจัดการอบรมการสร้างชุดการเรียนวิชาต่าง ๆ แก่อาจารย์ที่สอนวิชา
เหล่านั้นและหวังเช่นเดียว แต่ปรากฏภายหลังว่า จากจำนวนผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมไปแล้ว
ทั้งหมด จะมีเพียงไม่กี่คนที่นำไปทำ และนำไปใช้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ของการหยุดชะงัก 
ทำให้น่าคิดว่า ผู้ผลิตกับผู้ใช้น่าจะเป็นคนละพวกกันมากกว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน หรือคน ๆ
เดียวกัน ผู้ใช้ซึ่งแน่ละมีอยู่จำนวนมาก เป็นผู้ที่รอผลิตผลจากผู้ผลิต 

ดังนั้นผู้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาอย่างน้อยควรจะสังกัดหน่วยงานผลิต
และบริการ ซึ่งมีโครงการต่อเนื่องรองรับ หน่วยงานนี้อาจเป็นศูนย์ซึ่งมีหน้าที่คิด ทดลอง 
และผลิต ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่แก่ผู้ใช้ด้วยการอบรมวิธีการใช้นวกรรมการศึกษานั้น
แก่เขา ดังนั้นแทนที่ผู้ใช้จะเป็นผู้ผลิตและใช้นวกรรมการศึกษาเองซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ 
ก็เป็นเพียงรับการถ่ายทอดนวกรรมเพื่อใช้อย่างเดียว เท่านี้ก็พอแล้วและคิดว่า
นี่เป็นวิถีทางของการแพร่ขยายที่ได้ผลกว่าสรุปแล้วก็คือเส้นทางหรือขั้นตอนของการ
เผยแพร่และการดำเนินการแพร่ขยายการใช้นวกรรมการศึกษาให้ได้ผลนั้นต้องพิจารณาว่า
ควรจะทำกับใครและอย่างไรจึงจะมีผลทางการปฏิบัติที่ต่อเนื่องและกว้างขวาง

จากแง่คิดเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น
ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับการยอมรับ และระดับของการยอมรับก็ดี องค์ประกอบที่จะส่งผลต่อ
การยอมรับหรือไม่ยอมรับก็คือ วัฏจักร หรือ วงจรของกระบวนการนวกรรมตลอดจน
การขยายผลในการใช้นวกรรมการศึกษาก็ดี จะเห็นว่ามีเครื่องชี้บ่งถึงความสำเร็จหรือความ
ล้มเหลวอยู่หลายประการ และดูเหมือนจะมองเห็นกันอยู่ แต่ถ้าต้องการคำตอบที่แน่ชัดลงไป
ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการยอมรับและการนำนวกรรมการศึกษาไปใช้ขึ้นอยู่
กับตัวแปรใดมากน้อยอย่างไร แล้วกลับเห็นไม่ค่อยชัด คงจะต้องทำการศึกษาวิจัยกัน
ให้ชัดแจ้งกันต่อไป ในประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นและหวังว่าถ้าทำ
และทำได้สำเร็จผลของการค้นพบจะสามารถนำมาเป็นข้อมูลสำหรับวางแผน ดำเนินการ
พัฒนางานด้านนวกรรมการศึกษาได้รัดกุม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมาและ
เป็นอยู่ในขณะนี้


อ่านเพิ่มเติมได้จาก :
กิดานันท์ มลิทอง.(2540) เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม. กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์.
บุญเกื้อ ควรหาเวช (2543) นวัตกรรมการศึกษา.(พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ:SR Printing.